จุดเด่นของหลักสูตร
-
ปรัชญาของหลักสูตร
ผลิตบัณฑิตที่มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการจัดการโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนด้านโลจิสติกส์ของประเทศ
ความสำคัญของหลักสูตร
ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจประสบกับการแข่งขันที่รุนแรงมาก ดังนั้นการดำเนินธุรกิจจึงต้องแสวงหาวิธีหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่องค์กร หรือเพื่อความอยู่รอดขององค์กรทางธุรกิจ โดยระบบการจัดการโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญที่ช่วยในการวางแผน สนับสนุน การควบคุมการไหลเวียนของกิจกรรมต่างๆ เช่น สินค้าและบริการ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การจัดการคลังสินค้า บริหารต้นทุน การขนส่ง รวมไปถึงจุดที่มีการใช้งานหรือถึงมือผู้บริโภค โดยเป็นการนำองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และด้านการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning: ML) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) หรือ ดิจิทัลซัพพลายเชน (Digital Supply Chain) ประกอบกับคณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวร ตั้งอยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงแห่งภูมิภาคที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างภาคและเชื่อมโยงการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) และระเบียงเศรษฐกิจระหว่าง “หลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย” (Luangprabang-Indochina-Mawlamyine Economic Corridor: LIMEC) ซึ่งเป็นประตูเชื่อมโยงไปยังสหภาพเมียนมา สปป. ลาว และประเทศจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) ได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวรจะพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน ที่เป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์ทางด้านการจัดการและด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยเน้นการแก้ปัญหาในกิจกรรมด้านโลจิสติกส์และ
ซัพพลายเชนในเชิงวิศวกรรม เพื่อผลิตบัณฑิตด้านการจัดการโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนแบบมีคุณภาพและมีความเป็นมืออาชีพ ที่พร้อมจะเป็นผู้นำทางความคิดในการนำพาเศรษฐกิจท้องถิ่นและประเทศ
ให้ก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคไร้พรมแดน และก้าวทันต่อยุคสมัยโลจิสติกส์ 4.0 (Logistics 4.0) ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์และ
ซัพพลายเชนที่มีความเป็นสากลและสามารถประยุกต์ให้เข้ากับแผนบูรณาการของประเทศอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน ด้วยการใส่ใจในการรักษ์สิ่งแวดล้อมและโลก ซึ่งหลักสูตรฯ จะสนับสนุนให้บัณฑิตมีคุณภาพ
โดยการไปศึกษาดูงานการฝึกงาน/สหกิจศึกษา ตลอดจนเชิญผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์สูงมาเป็นวิทยากรพิเศษ
กลุ่มอาชีพเป้าหมายเมื่อจบการศึกษา
(1) นักวิชาการด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน
(2) นักวิชาการด้านการจัดการการปฏิบัติการ
(3) นักวิชาการด้านบริหารธุรกิจของหน่วยงานต่างๆ
(4) นักวิเคราะห์และวางแผนด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน
(5) นักจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศระบบโลจิสติกส์
(6) เจ้าหน้าที่วางแผนการผลิตและกระจายสินค้า
(7) เจ้าของธุรกิจหรือผู้ให้บริการทางด้านโลจิสติกส์
(8) พนักงานองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ในหน่วยงานด้านโลจิสติกส์และที่เกี่ยวข้อง
(9) อาชีพอื่นที่ใช้องค์ความรู้ทางด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน
ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร
ELO1 มีคุณธรรม จริยธรรม วินัย และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง (G)
ELO2 มีความรู้และความเข้าใจในทฤษฎี หลักการ และวิธีการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน และสามารถบูรณาการความรู้ด้านโลจิสติกส์กับความรู้ในศาสตร์อื่นๆ ได้ (S)
ELO3 สามารถวิเคราะห์ปัญหา ประยุกต์ใช้ความรู้ ทฤษฎี และหลักการด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนอย่างเป็นระบบ ประเมินสถานการณ์ต่างๆ โดยใช้ความรู้เป็นฐาน และใช้ข้อมูลที่ได้ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ (S)
ELO4 มีทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถประยุกต์ใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณในการทำงานได้ (S)
ELO5 มีภาวะความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน และสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้ (G)
ELO6 มีทักษะพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ (G)
ELO7 มีทักษะการใช้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม ในการอธิบายหลักการ สถานการณ์ และสื่อสารเพื่อการทำงานได้ (G)
ELO8 มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และสามารถเลือกใช้ซอฟต์แวร์ (Software) ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรได้ (S)