จุดเด่นของหลักสูตร
หลักสูตรภูมิสารสนเทศศาสตร์เป็นหนึ่งในหลักสูตรของภาควิชาทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม ที่มีความพร้อมอย่างสูงโดยมีกลุ่มคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ มีผลงานการวิจัยและวิชาการ
ที่มีการเผยแพร่สู่วงวิชาการในทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ และยังมีความพร้อมด้านสถานที่และเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในทางภูมิสารสนเทศ จุดเด่นที่สำคัญคือคุณภาพทักษะของคณาจารย์ที่มีความหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือทักษะในการพัฒนาวิธีการและนวัตกรรมในการแก้โจทย์ปัญหาเชิงพื้นที่โดยใช้องค์ความรู้ภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ภูมิสารสนเทศรหัสเปิดซึ่งเป็นทักษะที่มีความต้องการเป็นอย่างสูงจากทั้งภาครัฐบาลและเอกชน กลุ่มคณาจารย์ของหลักสูตรภูมิสารสนเทศศาสตร์มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในการติดตามและพัฒนาตนเองให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในทางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ภูมิสารสนเทศที่สำคัญเหล่านี้ เพื่อมุ่งนำทักษะและองค์ความรู้ภูมิสารสนเทศศาสตร์มาบูรณาการรวมกันกับองค์ความรู้ภูมิศาสตร์ที่เป็นความเชี่ยวชาญของกลุ่มคณาจารย์รวมถึงองค์ความรู้จากศาสตร์ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยมีเป้าประสงค์เพื่อสร้างบุคลากรที่มีองค์ความรู้ภูมิสารสนเทศขั้นสูงอย่างมีคุณภาพเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในฟันเฟืองแห่งการพัฒนาประเทศ
ให้เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ปรัชญาของหลักสูตร
หลักสูตรนี้มุ่งเน้นการพัฒนาความคิด ทักษะการแก้ปัญหา และสร้างงานวิจัยเชิงพื้นที่
โดยใช้เครื่องมือบูรณาการกับฐานความรู้ด้านทฤษฎี และเทคนิควิธีการด้านภูมิสารสนเทศศาสตร์ สามารถ
ต่อยอดองค์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ต่อการเพิ่มศักยภาพการผลิต และระบบข้อมูลเชิงพื้นที่ รวมถึงการผลิตมหาบัณฑิตที่มีทักษะในการบูรณาการองค์ความรู้เชิงพื้นที่รวมกับภูมิสารสนเทศในการสร้างนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อการบริหารและจัดการทรัพยากรด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน
ความสำคัญของหลักสูตร
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตให้มีความสามารถในการคิดเชิงพื้นที่โดยสร้างฐานความรู้ทางด้านทฤษฎี แนวคิดและหลักปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้เทคนิควิธีการของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยให้ความสนใจในเชิงปริวรรตแบบผสมผสานของ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และข้อมูลเชิงพื้นที่ บูรณาการร่วมกันของการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ กระบวนการโปรแกรมคอมพิวเตอร์
และทักษะการออกแบบเชิงกราฟิค เพื่อสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่เอื้อประโยชน์ต่อการเพิ่มศักยภาพในการผลิต การจัดการทรัพยากร และระบบข้อมูลเชิงพื้นที่ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการกระจายความรู้ ทักษะทางด้านภูมิศาสตร์และภูมิสารสนเทศศาสตร์เพื่อการบริหารและจัดการทรัพยากรด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน
กลุ่มอาชีพเป้าหมายเมื่อจบการศึกษา
1) นักวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีด้านภูมิศาสตร์
2) นักภูมิสารสนเทศ
3) นักวิชาการภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม
4) นักวิเคราะห์ และวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการคมนาคมขนส่ง
5) นักวางแผนภูมิภาค
6) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลทางด้านภูมิสารสนเทศ
7) นักจัดการระบบเมือง และชนบท
8) นักวิเคราะห์เพื่อบรรเทา และป้องกันภัยสาธารณะ
9) นักวิชาการด้านการจัดการด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
10) อาจารย์ผู้สอนในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา
11) นักวิจัย
12) ประกอบอาชีพอิสระด้านต่างๆ
ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร
ELO1 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ และมีจรรยาบรรณทางวิชาการ
ELO2 อธิบายและวิเคราะห์ หลักการ แนวคิด ทฤษฎี และทักษะภูมิสารสนเทศศาสตร์ สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้หรือต่อยอดได้
ELO3 วางแผนและดําเนินงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ในด้านภูมิสารสนเทศศาสตร์และปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นพลวัตในโลกปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม
ELO4 แสดงภาวะความเป็นผู้นำ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นและยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง
ELO5 สามารถสื่อสารข้อมูลทางด้านภูมิสารสนเทศศาสตร์สู่ชุมชนและสังคม ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ