จุดเด่นของหลักสูตร
-
ปรัชญาของหลักสูตร
คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน ให้ความสำคัญกับการบริหารองค์กรสู่ความเป็นเลิศ และก้าวสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง ผ่านนักบริหารโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมืออาชีพ ที่พร้อมจะเป็นผู้นำทางความคิดในการนำพาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคไร้พรมแดน และสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเสริมระบบโลจิสติกส์ครบวงจร เพื่อให้ก้าวทันต่อยุคสมัย Logistics 4.0 ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดนักบริหารโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมืออาชีพที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืนด้วยการใส่ใจในการรักษ์สิ่งแวดล้อมและโลก
ความสำคัญของหลักสูตร
ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจประสบกับการแข่งขันที่รุนแรงมาก ดังนั้นการดำเนินธุรกิจจึงต้องแสวงหาวิธีหรือ กลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่องค์กร หรือเพื่อความอยู่รอดขององค์กรทางธุรกิจ โดยระบบการจัดการโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญที่ช่วยในการวางแผน สนับสนุน ควบคุมการไหลเวียนของสินค้าข้อมูลและบริการจากแหล่งวัตถุดิบจนกระทั่งถึงมือ ผู้บริโภคด้วยความรวดเร็วและต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กิจกรรมการจัดหาวัตถุดิบ การจัดการคลังสินค้า การดูแลสินค้าคงคลัง การบริหารต้นทุน การขนส่งและการบริการลูกค้า
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นโอกาสดีที่ คณะโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยนเรศวรจะพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน ที่เป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์ทางด้านการจัดการและด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยเน้นการแก้ปัญหาในกิจกรรมด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในเชิงวิศวกรรม และสามารถพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อผลิตมหาบัณฑิตด้านการจัดการโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนแบบมีคุณภาพและมีความเป็นมืออาชีพ พร้อมจะเป็นผู้นำทางความคิดในการนำพาเศรษฐกิจท้องถิ่นและประเทศให้ก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กับการเติบโตของเศรษฐกิจในยุคไร้พรมแดน และก้าวทันต่อยุคสมัยโลจิสติกส์ 4.0 (Logistics 4.0) ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่มีความเป็นสากลและสามารถประยุกต์ให้เข้ากับแผนบูรณาการของประเทศอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน ด้วยการใส่ใจในการรักษ์สิ่งแวดล้อมและโลก
กลุ่มอาชีพเป้าหมายเมื่อจบการศึกษา
(1) นักวิจัย/นักวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
(2) นักวิจัย/นักวิชาการด้านการจัดการการปฏิบัติการ
(3) นักวิจัยทางด้านบริหารธุรกิจของหน่วยงานต่าง ๆ หรือ นักวิจัยอิสระ
(4) อาจารย์หรือนักวิชาการประจำสถาบันต่าง ๆ
(5) เจ้าของกิจการและผู้ประกอบอาชีพอิสระทางธุรกิจ
(6) ผู้บริหารองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ในหน่วยงานด้านโลจิสติกส์และที่เกี่ยวข้อง
(7) ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ในหน่วยงาน
(8) นักวิเคราะห์และวางแผนด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวังของหลักสูตร
ELO1 แสดงออกถึงการมีคุณธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองและสังคม
ELO2 อธิบายทฤษฎี หลักการ และกระบวนการหลักในงานด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนได้ และมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ทฤษฎี หลักการ และสิ่งใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในงานด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนอยู่เสมอ
ELO3 ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) และองค์ความรู้ด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation Management) ในการแก้โจทย์ปัญหาทางด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนได้
ELO4 วิเคราะห์ประเด็นปัญหาด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน และนำความรู้/ทฤษฎีต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม
ELO5 ออกแบบ และดำเนินการวิจัย เพื่อแก้โจทย์ปัญหาด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนได้อย่างเป็นระบบ ประกอบกับสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และสถิติในการวิเคราะห์และประมวลผลในงานวิจัยได้
ELO6 แสดงออกถึงภาวะความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน และสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นได้
ELO7 อธิบาย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการนำเสนอผลงานทางวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนด้วยภาษาไทย และภาษาอังกฤษได้ รวมถึงสามารถอธิบายหลักการ สถานการณ์ และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม